ลมหุบเขาและลมภูเขา
เรียบเรียงโดย . . . สัมพันธ์ ไทยเครือวัลย์
ลมหุบเขา (Anabatic wind) เป็นลมที่พัดจากหุบเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา เกิดขึ้นในเวลากลางวันเมื่อบริเวณลาดเขาได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศบริเวณดังกล่าวร้อนกว่าบริเวณใกล้เคียงที่ระดับความสูงเดียวกัน และลอยตัวสูงขึ้นในขณะที่อากาศบริเวณรอบข้างจะไหลเข้ามาแทนที่เกิดเป็นลมที่พัดขึ้นไปตามลาดเขา
ส่วนลมภูเขา (Katabatic wind) เป็นลมที่พัดจากยอดเขาลงสู่หุบเขา เกิดขึ้นในเวลากลางคืนที่มีท้องฟ้าแจ่มใส เนื่องจากอากาศบริเวณลาดเขาไหลลงมาแทนที่อากาศบริเวณหุบเขาที่ร้อนกว่า เกิดเป็นลมพัดจากยอดเขาลงสู่หุบเขา ตามปกติแล้วลมภูเขาจะมีกำลังอ่อนเมื่อเทียบกับลมหุบเขา แต่อย่างไรก็ตามในฤดูหนาวลมภูเขานี้อาจมีความแรงได้ โดยเฉพาะในบริเวณภูเขาสูง
ลมภูเขาและลมหุบเขา สามารถทำให้เกิดกระแสอากาศที่ปั่นป่วนได้ในบริเวณเทือกเขา ดังนั้นเครื่องบินเล็กๆ เช่น เฮลิคอปเตอร์จึงควรระมัดระวังอันตรายจากความแปรปรวนของลมที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบินผ่านบริเวณเทือกเขาสูงๆ และสลับซับซ้อน
***********
เอลนีโญและลานีญา
เรียบเรียงโดย . . . สัมพันธ์ ไทยเครือวัลย์
เอลนีโญ (El Nino) คือ ปรากฏการณ์ที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้น และแผ่ขยายกว้างไกลออกไป เป็นระยะเวลานานถึง 3 ฤดูกาลหรือมากกว่า ในทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวเย็นลงจะเรียกว่า ลานีญา (La Nina)
ในช่วงที่เกิดเอลนีโญ สภาพภูมิอากาศบางบริเวณจะผันแปรไปจากปกติ กล่าวคือ บริเวณที่เคยมีฝนชุกจะกลับแห้งแล้ง และบริเวณที่เคยแห้งแล้งจะมีฝนตกชุก เช่น ประเทศอินโดนีเซียจะเกิดความแห้งแล้งผิดปกติจากฤดูกาลที่เคยมีฝนชุก ในขณะที่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งปกติแห้งแล้งกลับมีฝนตกชุก
เมื่อเกิดเอลนีโญขนาดรุนแรงขึ้นเมื่อใด ปริมาณฝนของประเทศไทยมักมีค่าต่ำกว่าปกติ และอุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เช่น เอลนีโญขนาดรุนแรง ปี พ.ศ. 2540 ถึง 2541 ประเทศไทยประสบกับสภาวะความแห้งแล้ง มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติทั่วประเทศ ส่วนผลกระทบจากลานีญาจะตรงข้ามกับเอลนีโญ เช่น ลานีญาที่เกิดขึ้นปี พ.ศ. 2542 ถึง 2543 ประเทศไทยมีฝนชุกกว่าปกติ และอุณหภูมิในฤดูหนาวลดลงทำลายสถิติหลายจังหวัดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542
สำหรับข้อมูลสถิติอากาศ รวมทั้งพยากรณ์อากาศตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ตลอดจนปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น สามารถค้นหาเพิ่มเติมจากเว็บไซด์ของกรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th
***********
ต้องขอขอบคุณท่านสัมพันธ์ ไทยเครือวัลย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา ที่เอื้อเฟื้อบทความความรู้ดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น