วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

แผนปฏิบัติืการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ พ.ศ.2553 - 2562

แผนปฏิบัติืการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ พ.ศ.2553 - 2562

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2553-2562 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เป็นหน่วยประสานงาน กำกับ ดูแลทิศทางการนำแผนปฏิบัติการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ และติดตามประเมินผล ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอความเป็นมากระทรวงมหาดไทยรายงานว่า
1. หลังจากเกิดภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียและ แปซิฟิค และประเทศในทวีปแอฟริกาได้ตระหนักถึงภัยจากคลื่นสึนามิ ภัยจากความแห้งแล้ง และภัยจากน้ำท่วมที่สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นานาประเทศ จึงได้มีการประชุมเพื่อลดภัยพิบัติระดับโลกขึ้น ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น (World Conference on Disaster Reduction) ผลการประชุม
ของ 168 ประเทศ มีมติให้จัดทำมาตรการลดภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ค.ศ.2005-2015 (Hyogo Framework for Action 2005-2015 : HFA 2005-2015) หลังจากนั้นได้มีการประชุมของประเทศในทวีปเอเชีย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (Beijing Action for Disaster Reduction in Asia) ที่ประชุมได้รับหลักการตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ให้เป็นแผนปฏิบัติการในการสร้างสมรรถนะระดับชาติและระดับชุมชนในการจัดระบบหน้าที่และโครงสร้างต่างๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ พร้อมทั้งเห็นชอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ
2. การจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศไทย  ตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ (HFA 2005-2015) ได้มีการเตรียมการจากหน่วยงานภาครัฐ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยความร่วมมือของศูนย์เตรียมพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center : ADPC) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากองค์การยุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction : UNISDR)
3. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นร่างแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2552-2561 (Strategic National Action Plan (SNAP) on Disaster Risk Reduction 2009-2018  โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน รวม 44 หน่วยงาน จำนวน 140 คน และได้นำข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการ
ประชุมดังกล่าวมาปรับ/แก้ไขและจัดทำแผนปฏิบัติการฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 วิสัยทัศน์  ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานระดับท้องถิ่นถึงหน่วยงานระดับประเทศและประชาชน ดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยมีระดับความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากลได้ภายในระยะหนึ่งทศวรรษ (จากปัจจุบันถึง พ.ศ. 2561) และเป็นประเทศผู้นำด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาค
3.2 วัตถุประสงค์
(1) เพื่อยกระดับและสนับสนุนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวให้สูงขึ้นสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน
(2) เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเชิงยุทธศาสตร์ ระยะยาว
(3) เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศ
(4) เพื่อพัฒนาและเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศไทยในระยะยาวตามแนวทางของกรอบดำเนินการเฮียวโกะ
(5) เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนจากระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศมีแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระยะยาวที่มีทิศทางเดียวกันและเสริมกำลังกันอย่างบูรณาการ
3.3 เป้าหมาย กำหนดทิศทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศไทยให้เป็นระบบที่บูรณาการและเสริมกำลังกัน โดยให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมีแผนปฏิบัติการระยะยาวสอดรับกับแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2552-2561

3.4 ยุทธศาสตร์ของแผน  ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์                 ประเด็นยุทธศาสตร์

1. การป้องกันและลดผลกระทบ           

1.1 การปรับปรุงทบทวนกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.2 การขยายการปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน
1.3 การจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศด้านบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ
1.4 การประเมินความเสี่ยงภัยและการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย
1.5 การพัฒนาแผนหลักและแผนปฏิบัติการด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติ
1.6 การสร้างความตระหนักแก่ประชาชนและการให้การศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
1.7 การวิจัย และพัฒนาเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
1.8 การถ่ายเทความเสี่ยงภัย

2. การเตรียมความพร้อม               

2.1 การเพิ่มพูนขีดความสามารถให้ระบบการแจ้งเตือนภัยและการกระจายข้อมูลข่าวสารระดับชาติ
2.2 การจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ
2.3 การฝึกซ้อมแผนทุกระดับ
2.4 การเพิ่มพูนขีดความสามารถด้านการเตรียมและการรับมือภัยพิบัติ
2.5 การสร้างความตระหนัก และการให้การศึกษาระดับชุมชน
2.6 การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

3. การบริหารจัดการฉุกเฉิน             

3.1 การจัดตั้งศูนย์บริหารวิกฤตระดับชาติ
3.2 การพัฒนาศักยภาพของระบบการสื่อสารฉุกเฉิน
3.3 การจัดตั้งหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัยระดับชาติ
3.4 การประสานงานและการบัญชาการ
3.5 การฝึกอบรม

4. การจัดการหลังเกิดภัย               

4.1 การประเมินความเสียหายเบื้องต้น
4.2 การประเมินความต้องการของผู้ประกันภัย
4.3 จัดทำแผนฟื้นฟูบูรณะ
4.4 ความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติในการฟื้นฟูบูรณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น