วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

การประเมินและการยอมรับงานคอนกรีต (มาตรฐาน วสท. และ ACI)

การประเมินและการยอมรับงานคอนกรีต (มาตรฐาน วสท. และ ACI)

               (ก) การเก็บตัวอย่างคอนกรีตแต่ละชนิดเพื่อทดสอบ ให้กระทำทุกวันที่มีการเทคอนกรีต หรือที่มีการเทคอนกรีตทุกปริมาตร 100 ลบ.ม. หรือ ทุกพื้นที่ 500 ตร.ม. ของคอนกรีตที่หล่อโดยกระทำตามวิธีของ ASTM C172 ว่าด้วยการสุ่มตัวอย่างจากคอนกรีตสด เมื่อจำนวนการทดสอบของคอนกรีตแต่ละชนิดมีน้อยกว่า 5 ครั้ง ให้ทดสอบโดยเลือกสุ่มเอาจากคอนกรีต 5 แบทซ์ ถ้าปริมาณชนิดนั้นน้อยกว่า 30 ลบ.ม. วิศวกรผู้ควบคุมอาจยกเว้นการทดสอบดังกล่าวได้โดยมีหลักฐานแสดงเป็นที่เชื่อถือว่าจะให้กำลังคอนกรีตที่ต้องการ
               (ข) การบ่มตัวอย่างทดสอบในห้องปฏิบัติการให้กระทำตามวิธีของ ASTM C31 ว่าด้วยการเตรียมและบ่มคอนกรีตทรงกระบอกในสนาม และทดสอบแท่งคอนกรีตทรงกระบอกตามวิธีของ ASTM C39 ว่าด้วยการทดสอบกำลังอัดของแท่งคอนกรีตทรงกระบอก กำลังของคอนกรีตแต่ละชนิดจะถือเป็นที่ยอมรับได้เมื่อผลเฉลี่ยกำลังอัดของการทดสอบ 3 ครั้งติดต่อกันให้ค่าเท่ากับหรือมากกว่า fc’ และกำลังอัดที่ทดสอบแต่ละครั้งอาจจะต่ำกว่า fc’ ที่กำหนดได้ไม่เกิน 35 กก./ตร.ซม.
               (ค) วิศวกรผู้ควบคุมอาจสั่งให้มีการทดสอบกำลังของแท่งคอนกรีตทรงกระบอกที่บ่มในสนามเพื่อตรวจสอบความเพียงพอของการบ่มโครงสร้างคอนกรีตที่เทนั้น แท่งคอนกรีตทรงกระบอกที่บ่มในสนามต้องเป็นไปตามวิธีของ ASTM C31 เมื่อผลการทดสอบตัวอย่างบ่มในสนามให้กำลังต่ำกว่าร้อยละ 85 ของตัวอย่างที่บ่มในห้องปฏิบัติการให้ปรับปรุงวิธีการบ่มคอนกรีตของโครงสร้างนั้นๆ ให้ดีขึ้น แต่ถ้าค่ากำลังอัดของตัวอย่างบ่มในสนามสูงกว่าค่ากำลังอัดที่กำหนด (fc’) เกิน 35 กก./ตร.ซม. ถึงแม้จะไม่ถึงร้อยละ 85 ของค่าที่ได้จากการบ่มในห้องปฏิบัติการก็ยอมรับว่าการบ่มคอนกรีตในสนามนั้นใช้ได้
               (ง) ในกรณีที่กำลังอัดของตัวอย่างบ่มในห้องปฏิบัติการต่ำกว่า fc’ ที่กำหนดเกิน 35 กก./ตร.ซม. หรือผลการทดสอบตัวอย่างบ่มในสนามตามข้อ (ค) บ่งชี้ว่าการบ่มคอนกรีตยังไม่ดีพอให้ปฏิบัติตามลำดับต่อไปนี้เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างยังสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัย

                         1. ให้เจาะเอาตัวอย่างคอนกรีตจากโครงสร้างในบริเวณที่มีปัญหาไปทดสอบตามวิธีของ ASTM C42 โดยในการทดสอบแต่ละครั้งให้เจาะจำนวน 3 ตัวอย่าง
                         2. ต้องผึ่งแท่งคอนกรีตที่เจาะไว้ให้แห้งในอากาศเป็นเวลา 7 วัน ก่อนการทดสอบ
                         3. ถ้ากำลังอัดของแต่ละแท่งของคอนกรีตมีค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของ fc’ ที่กำหนดและค่ากำลังอัดของแท่งคอนกรีตที่เจาะได้เฉลี่ยจาก 3 แท่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของ fc’ ที่กำหนดให้ถือว่าโครงสร้างส่วนนั้นมีความแข็งแรงเพียงพอ
                         4. หากผลการทดสอบตามข้อ 3 ไม่ผ่าน และมีข้อสงสัยในความมั่นคงของโครงสร้างวิศวกรผู้รับผิดชอบอาจสั่งให้ทดสอบการบรรทุกน้ำหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น